วันจันทร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2552

มาป้องกันโรคกระเพาะอาหารทะลุกันเถอะ



โรคกระเพาะอาหารทะลุ
กระเพาะทะลุมักพบเป็นภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงของผู้ป่วยที่เป็นโรคกระเพาะที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างจริงจัง ผู้ป่วยมักมีประวัติปวดท้องแบบโรคกระเพาะเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง หรือมีประวัติชอบกินยาแก้ปวดหัว ปวดหลัง ปวดข้อ (เช่น ยาแก้ปวดที่เข้าแอสไพริน, ยาชุด) ดื่มเหล้า เป็นประจำผู้ป่วยจะมีแผลที่กระเพาะหรือลำไส้เล็กส่วนต้นที่ค่อย ๆ กินลึกจนทะลุเป็นรู แล้วกลายเป็นเยื่อบุช่องท้องอักเสบ และโลหิตเป็นพิษ หากรักษาไม่ทันอาจตายได้





อาการ

  1. ผู้ป่วยจะมีอาการปวดเสียดแน่นที่ใต้ลิ้นปี่ ซึ่งเกิดขึ้นทันทีทันใดและรุนแรงอย่างที่ไม่เคยปวดมาก่อน และปวดติดต่อกันนานเป็นชั่วโมง ๆ (มักเป็นนานเกิน 6 ชั่วโมง) กินยา ฉีดยาอะไรก็ไม่ได้ผล อาการปวดท้องมักลุกลามไปทั่วท้องอย่างรวดเร็ว และอาจรู้สึกปวดร้าวไปที่หัวไหล่ข้างเดียวหรือสองข้าง ผู้ป่วยมักจะนอนนิ่ง ๆ เพราะหากขยับเขยื้อนจะรู้สึกปวดมากขึ้น
  2. บางคนอาจมีการคลื่นไส้อาเจียน ใจสั่น หน้ามืด วิงเวียนคล้ายจะเป็นลม มีภาวะขาดน้ำและช็อคได้

การตรวจร่างกาย

สิ่งตรวจพบมีอาการกดเจ็บ (tenderness), กดปล่อยแล้วกดเจ็บ (rebound tenderness) และท้องแข็ง (guarding) ตรงบริเวณใต้ลิ้นปี่ ใช้เครื่องฟังตรวจที่หน้าท้อง จะได้ยินเสียงโครกครากลดน้อยกว่าปกติ หรือแทบไม่ได้ยินเลย ชีพจรมากกว่า 120 ครั้งต่อนาที บางคนอาจมีอาการช็อก หรือกระสับกระส่ายเหงื่อออก ตัวเย็น ความดันเลือดตกบางคนมีไข้ขึ้น


การรักษาหากสงสัยควรส่งโรงพยาบาลด่วนในรายที่อาการไม่ชัดเจน ถ้าปวดจากอาการกระเพาะเกร็งเมื่อได้รับลดปวดมักจะหายปวดได้ แต่ถ้าไม่หายปวดใน 15-30 นาที ก็น่าจะสงสัยว่าเป็นกระเพาะทะลุ ระหว่างส่งโรงพยาบาลควรให้งดน้ำและอาหารเพื่อเตรียมผ่าตัด มักจะตรวจวินิจฉัยด้วยเอกซเรย์ ถ้าเป็นจริงต้องผ่าตัดทุกราย

หลักการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโรคกระเพาะอาหารทะลุ

  • กินอาหารอ่อน ย่อยง่าย
  • กินอาหารตรงตามเวลาทุกมื้อ
  • กินอาหารจำนวนน้อยๆ แต่กินให้บ่อยมื้อ ไม่ควรกินจนอิ่มมากในแต่ละมื้อ
  • หลีกเลี่ยงอาหารเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด สุรา
  • งดสูบบุหรี่
  • งดการใช้ยาแก้ปวด แอสไพริน และยาแก้โรคกระดูกและข้ออักเสบทุกชนิด
  • ผ่อนคลายความเครียด กังวล พักผ่อนให้เพียงพอ
  • กินยาลดกรด หรือยารักษาแผลกระเพาะอาหารติดต่อกันอย่างน้อย 4-8 สัปดาห์
  • ถ้ามีอาการดังที่กล่าวข้างต้น ต้องรีบไปพบแพทย์

2 ความคิดเห็น: